IMG_2126

ผมมีประสบการณ์ด้านการพูดต่อหน้าที่ชุมชน และการฝึกอบรมที่หลากหลาย
ตั้งแต่ ให้คำแนะนำตัวต่อตัว ไปจนถึงพูดบนเวทีกับผู้ชมหลักพัน
ปีนี้ผมมีแรงบันดาลใจ ที่จะแบ่งปัน เทคนิคการพูดง่ายๆ ให้กับผู้คน สัปดาห์ละ 1 ข้อ
และนี่คือ การแบ่งปันสิ่งที่ผมชำนาญ ประจำเดือน พฤษภาคม ของผมครับ

EP. 17 : เราเริ่ม สื่อสาร ตอนไหน
EP. 18 : มาอย่างไร ก็กลับไปอย่างนั้น
EP. 19 : Heart➜Head➜Hands
EP. 20 : พูดในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่พูด

EP. 17 : เราเริ่ม สื่อสาร ตอนไหน

18359321_1125592937545137_1033681064885100307_o

“ในเวลาที่ต้องขึ้นพูดหรือนำเสนอผลงาน พวกเราเริ่มสื่อสาร ตอนไหนครับ?”

ผมมักถามผู้เรียนของผมเสมอและผู้เรียนมักจะตอบว่า
เมื่อเริ่มพูด หรือ เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนเวที

อืมมมมม “เกือบถูก” ครับ

ซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง ก็คือ
คุณเริ่มสื่อสาร ตั้งแต่ผู้ฟังทราบว่า “คุณเป็นผู้พูด”
นั่นหมายความว่า
ตั้งแต่คุณลุกออกจากที่นั่ง และเดินขึ้นไปบนเวที
ทุกการเคลื่อนไหวของคุณ
แน่นอนว่ารวมถึงการแต่งกายของคุณ
จะถูกผู้ฟังรับรู้และประเมินเรียบร้อยแล้ว
ว่าเค้าจะฟังหรือไม่ฟังคุณ ก่อนที่คุณจะเริ่มพูดเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นการแต่งตัวของคุณ
ควรแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ และเหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง
โดยคุณอาจจะแต่งตัวให้เยอะ หรือมากกว่ากลุ่มผู้ฟังหนึ่งระดับ

ตัวอย่างเช่นกลุ่มผู้ฟังใส่ เสื้อShirt ไม่ผูกTie
คุณสามารถใส่เสื้อShirt ผูกTie ขึ้นไปพูดบนเวทีได้
หรืออาจจะใส่เสื้อShirt ไม่ผูกTie
แต่มีแจ็คเก็ตสวมทับขึ้นไปพูดบนเวทีก็ย่อมได้

ตัดมาที่การลุกขึ้นยืน
คุณควรลุกขึ้นยืนอย่างสง่างาม
ไม่ใช่ลุกแล้วมีเสียงก๊องแก๊ง โครมคราม
เพราะอาจจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า คุณเป็นคนซุ่มซ่าม

ถัดมาคือการเดินไปที่เวที
คุณควรเดินไปที่เวทีอย่างมุ่งมั่น มั่นใจ และมีพลัง
เพราะถ้าเกิดคุณเดินเนือยๆ เหนื่อยๆ อย่างเชื่องช้า และขาดพลัง เหมือน ตัวสล๊อทละเมอ ขึ้นไปบนเวที
ผู้ฟังอาจจะตีความได้ว่า คุณไม่อยากพูด
หรือตีความว่า คุณเป็นคนที่ไม่น่าสนใจตั้งแต่แรก

เมื่อยืนหยุดอยู่บนเวที
คุณควร สบสายตากับผู้ฟัง ยิ้มแย้มแจ่มใสให้ผู้ฟัง จากนั้นจึงค่อยเริ่มพูด
เพราะผู้พูดหลายหลายคนพอขึ้นบนเวที
ก็รีบพูดทันทีเพราะ กลัวว่าจะลืมบท หรือตื่นเต้น

หากคุณทำเช่นนี้ได้คุณจะพบว่า
การก้าวขึ้นไปยืนพูดของคุณบนเวทีเป็น
ก้าวย่างที่สง่างามครับ

เชื่อผมนะครับ
“ความประทับใจแรก มีแค่เพียงครั้งเดียว”

EP. 18 : มาอย่างไร ก็กลับไปอย่างนั้น

18402302_1125595430878221_7248962505856743273_o

จากประสบการณ์ของผม นักพูดหรือนักนำเสนอมือใหม่ หลายท่าน
จบการนำเสนอไม่สวย หรือตกม้าตายหลังจากพูดจบ
เอ….แล้วหลังจากพูดจบ จะทำอะไรล่ะถึงเรียกว่า “จบสวย”

จริงๆ แล้วในบทพูดของเรา บทสรุปของการพูดหรือบทปิด
น่าจะเป็นส่วนสุดท้ายของการพูดที่เราควรจะต้องใส่ใจ
แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เกือบถูก และเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคิดเสมอว่า

“ฟู่วววววว…พูดจบแล้ว พรีเซนต์จบแล้ว ฉันสามารถที่จะเดินลงจากเวทีได้แล้วววว”
แล้วก็ตาลีตาเหลือกลงมาจากเวที

เมื่อใดก็ตามที่เรามีความคิดเช่นนี้
เราจะทิ้งคาแรกเตอร์ เราจะโยนหมวก ของนักพูดหรือนำเสนอ ทิ้งไปบนเวที ซึ่งเท่ากับว่า
เราโยนความน่าเชื่อถือที่สะสมมาตลอดการพูดทิ้งไป

ท่าทางที่ดูสง่างาม
ก็จะกลายเป็นท่าทางที่ชิลๆ ผ่อนคลายมากไป หรือร่าเริงจนเกินเหตุ

ถ้าหนักหน่อยก็จะแสดงสีหน้าเศร้าๆ
ด้วยความไม่สบายใจเกี่ยวกับสิ่งที่ได้นำเสนอ
และเดินลงจากเวทีไปด้วยพลังงานที่ติดลบ
แตกต่างจากการขึ้นบนเวทีพูด

สั้นๆ ง่ายๆ ครับ
“คุณขึ้นมาอย่างไรคุณก็ควรลงไปจากเวทีอย่างนั้น

เดินกลับในสภาพเช่นเดียวกันกับที่คุณเดินขึ้นมาบนเวทีครับ
• เดินมาด้วยความกระฉับกระเฉง
• ขึ้นมายืนบนเวทีอย่างสง่างาม
• ยิ้มและสบตาผู้ฟัง จากนั้นจึงเริ่มพูด

ดังนั้นในเวลาที่คุณจบการนำเสนอ ก็ขอให้คุณ
• ยิ้มและสบตาผู้พูดอีกหนึ่งครั้ง
• โค้งให้ผู้ฟัง หรือ สวัสดี และบอกลาผู้ฟัง
• จากนั้นเดินลงเวทีอย่างสง่างาม

***** ขออนุญาตย้ำเตือนว่า ******
บทบาทและหน้าที่ของผู้นำเสนอจะสิ้นสุดลง
ก็ต่อเมื่อผู้นำเสนอหรือผู้พูดท่านนั้นกลับไปนั่งที่

ดังนั้นเชื่อผมเถอะครับ
“มาอย่างไร ก็กลับไปอย่างนั้น”

EP. 19 : Heart➜Head➜Hands

18359088_1125598144211283_4502426360756104181_o

คุณเคยเห็นผู้พูดที่ทำให้คุณรู้สึกว่า…
เขาถูกบังคับขึ้นมาพูด เค้าอึดอัดที่จะพูด
หรือเขาไม่มีความสุขที่จะพูดไหมครับ?

ส่วนใหญ่เวลาที่ผู้พูดหรือนักนำเสนอมือใหม่หลายคน
ต้องพูดอะไรที่เป็นหลักการ หรือข้อมูลหนักๆ
หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับ กฎ กติกา มารยาท เขามักจะมีอาการเกร็ง มีอาการเครียด และแสดงความรู้สึกกดดันจนอย่างที่ผู้ฟังสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน

ในทางกลับกันเวลาที่นักพูดหรือนักนำเสนอ
เล่าเรื่องที่เป็นประสบการณ์ชีวิต หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง
พวกเขาจะมี ความคล่องตัว และลื่นไหล อาการเครียด อาการเกร็ง ก็แทบจะไม่โผล่มาให้เห็น

 

คนกลุ่มแรกคือคนที่พูดโดยใช้ หัว (Head)
เราจะสังเกตได้ว่าเค้าจะนึกอยู่ตลอดเวลา
ว่า “อีก 5 วินาทีถัดไป เค้าจะพูดว่าอะไร”

ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งพูดโดยใช้หัวใจ (Heart)
เค้าจะเล่าอย่างสนุกสนาน และไหลลื่นตามความรู้สึกที่มี

ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่ก็จะเลือกฟัง
ในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ ในสิ่งที่เป็นเรื่องจริงผ่านจอ
มากกว่า หลักการ กฏระเบียบ กติกา มารยาท
เนื่องด้วยคนเราใช้ “ความรู้สึกนำเหตุผล” นั่นเอง

**********************************

• คนเรามักจะใช้หัวใจ (Heart) รับรู้
• ก่อนที่จะเปิดสมอง (Head) เพื่อทำความเข้าใจกับข้อความที่ได้รับ
• หลังจากนั้นถึงลงมือทำลงมือ (Hands) ปฏิบัติตามที่สมองประมวลผล

ด้วยแนวคิดนี้เอง การพูดหรือการนำเสนอที่ดีจะต้อง
“เริ่มด้วย Heart ➜ ตามด้วย Head ➜ และจบด้วย Hands”

EP. 20 : พูดในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่พูด

18814732_1145995695504861_5706010161183984784_o

คุณจะรู้สึกยังไงถ้าต้องนั่งฟัง คนที่พูดไปแล้วทำสีหน้าไม่มีความสุข?
แน่นอนคุณก็จะรู้สึกเช่นเดียวกันกับเขา เพราะผู้พูดรู้สึกเช่นไร ผู้ฟังก็จะรู้สึกเช่นนั้น

กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังประทับใจในเรื่องที่เราจะพูดก็คือ
“ความสุขในการพูดของเรา”

ความสุขหรือรัก ในสิ่งที่เราจะพูดเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น เรื่องที่เราจะพูดให้ผู้อื่นฟัง ควรเป็นเรื่องที่เรา…
มีความถนัด มีความหลงใหล หรือมีความประทับใจ
และจะดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเชิงบวก หรือเรื่องสร้างสรรค์
เพราะปัจจุบันมนุษย์เราต้องเจอกับพลังงานลบอยู่เกือบทั้งวัน

หากเป็นเรื่องเชิงบวกที่เรา ชื่นชอบ รัก หรือมีความสุข
เราจะ อิน หรือมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องที่จะพูด
คำพูด น้ำเสียง และท่าทาง ก็จะมีพลังงานบวกมากขึ้น
และพลังงานบวกนั้น ก็จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

หากชื่นชอบบทความนี้ ท่านสามารถ กดติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *