22_16-Apr

ผมมีประสบการณ์ด้านการพูดต่อหน้าที่ชุมชน และการฝึกอบรมที่หลากหลาย
ตั้งแต่ ให้คำแนะนำตัวต่อตัว ไปจนถึงพูดบนเวทีกับผู้ชมหลักพัน
ปีนี้ผมมีแรงบันดาลใจ ที่จะแบ่งปัน เทคนิคการพูดง่ายๆ ให้กับผู้คน สัปดาห์ละ 1 ข้อ
และนี่คือ การแบ่งปันสิ่งที่ผมชำนาญ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ ของผมครับ

EP. 1: ผู้พูด vs. ผู้ฟัง
EP. 2: พี่รู้ พี่เรียนมา
EP. 3: ฝึกฝน กันเถิด จะเกิดผล
EP. 4: ควบคุมเวลา

EP. 1: ผู้พูด vs ผู้ฟัง

16422318_1036890626415369_3138168858706140662_o

มีสายงานจำนวนไม่น้อยที่จะต้องพูด
เพื่อโน้มน้าว หรือพูดให้คนเชื่อแล้วปฏิบัติตาม
แต่ก่อนพูดเราจะต้องรู้ว่า
“เรามีเรื่องอะไรที่จะพูดบ้าง”

ปกติการเลือกเรื่องที่จะพูด จะมีสองแนวทาง คือ

1.พูดในเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ
(ชำนาญ ช่ำชอง และโชกโชน)
2.พูดในเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ

แต่ละรูปแบบก็มีความท้าทายต่างกัน
พูดเรื่องที่เราถนัด แต่ผู้ฟังไม่อยากฟัง เช่น เล่าเรื่องเทคนิคหรือเรื่องเฉพาะทาง
พูดเรื่องที่ผู้ฟังอยากฟัง แต่เราไม่ถนัด เช่น พูดเพื่อเอาใจผู้ฟัง หรือ เราถูกมอบหมายให้พูดในสิ่งที่ไม่ถนัด

แบบนี้เราจะทำยังไงดีล่ะ…ลองแบบนี้ดีไหมครับ…พูดในเรื่องที่ “ผู้พูดถนัดและผู้ฟังสนใจ”
การทำการบ้านในเรื่องที่จะพูดและศึกษาความต้องการของผู้ฟัง คือพื้นฐานที่สำคัญครับ

EP. 2: พี่รู้…พี่เรียนมา

16422936_1036897426414689_2651476774215514650_o

รู้ไหมครับว่าการพูดที่ดีคือการพูดแบบไหน?
“การเล่าสู่กันฟัง” นี่สิถึงจะโดนใจ

แล้วคำถามคือ จะเล่าอะไรถึงจะดีล่ะ??
คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ
“การแบ่งปัน หรือเล่าประสบการณ์” นั่นเอง
ซึ่งประสบการณ์ของเรานั้นจะมาจาก 2 แหล่งหลักๆ

1. ประสบการณ์ทางตรง หรือ เรื่องจริงผ่านจอที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
2. ประสบการณ์ทางอ้อม หรือ เรื่องที่ คนอื่นเล่าให้ฟัง เราอ่านหนังสือ

หากเล่า ประสบการณ์ทางตรง
เราจะ “เชื่อในสิ่งที่เราจะพูด”
และคนฟังก็จะเชื่อเราง่ายขึ้น

ในทางกลับกัน ประสบการณ์ทางอ้อม หลายๆครั้งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีประโยชน์
แต่ผู้ฟังอาจไม่เชื่อ หรือไม่ค่อยอยากฟัง เพราะเป็นประสบการณ์ที่เราหยิบยืมคนอื่นมา
ดังนั้น จะดีมากถ้าเราอธิบาย ประสบการณ์ทางอ้อม โดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผู้ฟังคุ้นเคย
ผู้ฟังก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องราว และเชื่อถือผู้พูดมากขึ้นครับ

******

ข้อพึงจดจำ
กรุณาอ้างอิงเสมอว่า ท่านได้ประสบการณ์ทางอ้อมนั้นๆมาจากใคร หรือแหล่งไหน
ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ท่านสื่อสารจะเข้าข่าย แอบอ้าง นะครับ

EP. 3 : ฝึกฝนกันเถิด จะเกิดผล

16403151_1036902693080829_5879059138818068131_o

ทุกคนต้องเคยมี…”ครั้งแรก” ใช่มั้ยครับ?
ซึ่งส่วนมาก “ครั้งแรก” มักจะ ”เจ็บ”

เมื่อต้องพูดต่อหน้าคนเยอะๆ
แน่นอนว่าครั้งแรกๆ เราเกือบทุกคนจะเจอกับ
ประสบการณ์ที่เจ็บปวด [กลัว-ตื่นเต้น-ประหม่า]

แต่เชื่อเถอะว่า ในชีวิตเราเคยเจอความรู้สึกแบบนี้มาหลายครั้ง ไม่จำกัดแค่การพูดเท่านั้น
คนเราเมื่อจะต้องทำกิจกรรมอะไรอื่นๆ ในครั้งแรกๆ
อาการ กลัว ตื่นเต้น ประหม่า ก็เกาะติดเป็นเพื่อนเราเสมอในครั้งแรก
เช่น หัดว่ายน้ำ, หัดขี่จักรยาน, โดดบันจี้จัมพ์
แต่แล้วความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายไป

วันนี้ผมมีข่าวดีจะบอกครับ ผมมี “สูตรสำเร็จที่จะเอาชนะความกลัว”
นั่นก็คือ [ทำในสิ่งที่กลัวซ้ำๆๆๆ เท่านั้น] ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน จนเกิดทักษะ ครับ!!!

แน่นอนครับ เมื่อมีข่าวดี ก็ย่อมมี ข่าวดีกว่า
จากบันทึกของ Toastmasters International ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการพูดระดับโลก พบว่า ตลอด 92 ปีที่ผ่านมา

“ยังไม่มีใครหัวใจวายตายบนเวทีครับ” – What doesn’t kill you make you stronger

ดังนั้น ถ้าหากพูด/present แล้วเรายังไม่ตาย ก็ขอให้ฝึกต่อไป เราต้องเก่งขึ้นทีละน้อยๆ ครับ

EP. 4: ควบคุมเวลา (Master Your Time)

16422455_1036915299746235_8480254159964563617_o

ผู้พูดที่ดี ย่อมพูดด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีต่อผู้ฟัง
แต่บางครั้ง การ “ดีเกินไป” ก็ใช่ว่าจะเหมาะสมครับ

วันนี้ผมมีเรื่องชาวบ้าน จะมาเล่าให้ฟังครับ
รุ่นพี่(ลุง?) นักบรรยายอาวุโสของผมท่านหนึ่ง
ได้แบ่งปันประสบการณ์ อันแสนเจ็บปวด
ที่เกิดจาก ความหวังดี(เกินไป) ให้ผมฟัง
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า

พี่ท่านไปบรรยายที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง
ตามกำหนดการ จะต้องเลิกบรรยายเวลา 16.00 น.
แต่รุ่นพี่ท่านนั้น มีเนื้อหาที่เตรียมไว้อีกหลายหัวข้อ
ด้วยความหวังดีและเป็นผู้ให้ เค้าเลยอยากแบ่งปันเยอะๆ
รุ่นพี่เลยไม่ยอมจบการบรรยาย
เวลา 16.03 หัวหน้าหน่วยของผู้เรียน
ลุกขึ้นยืนแล้ว บอกด้วยเสียงอันขึงขังว่า
“ตอนนี้ หมดเวลาแล้วครับ พวกเราขออนุญาต ออกไปปฏิบัติภารกิจตามตารางครับ”

ว่าแล้วผู้ฟังในห้องทุกคนก็ลุกขึ้นพรึบ โค้งให้ผู้บรรยาย แล้วเดินออกจากห้องบรรยาย อย่างพร้อมเพรียง
ผู้บรรยาย….(เงิบบบบบบบบ ครับ)

ผมมีความเชื่อว่า
“ความยุติธรรมเพียงหนึ่งเดียว ที่ทุกคนบนโลกได้รับอย่างเท่าเทียมกัน คือ ทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อวัน”

ทุกคนมีธุระส่วนตัว ที่จะต้องเกิดขึ้น ตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
ดังนั้นในฐานะ ผู้นำเสนอผลงาน หรือนักพูด
การเคารพผู้ฟังด้วยการ รักษาเวลา จึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างมากครับ

หากชื่นชอบบทความนี้ ท่านสามารถ กดติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *