14 May

ผมมีประสบการณ์ด้านการพูดต่อหน้าที่ชุมชน และการฝึกอบรมที่หลากหลาย
ตั้งแต่ ให้คำแนะนำตัวต่อตัว ไปจนถึงพูดบนเวทีกับผู้ชมหลักพัน
ปีนี้ผมมีแรงบันดาลใจ ที่จะแบ่งปัน เทคนิคการพูดง่ายๆ ให้กับผู้คน สัปดาห์ละ 1 ข้อ
และนี่คือ การแบ่งปันสิ่งที่ผมชำนาญ ประจำเดือน เมษายน ของผมครับ

EP. 13: เอ้อ เสียเวลา อ้าาาา เสีย…
EP. 14: นิ่งไม่หลับ ขยับเมื่อจำเป็น
EP. 15: ทิ้ง note ลงแม่น้ำ
EP. 16 : ฮาโหล ทดสอบ 1 2 3 4 ทดสอบ

EP. 13: เอ้อ เสียเวลา อ้าาาา เสีย…

17761012_1093492294088535_4557432192876336883_o

วันนี้ผมขอเสนอ คำศัพท์ ที่เกี่ยวข้องกับการพูด นั่นคือคำว่า
Filler Word ซึ่งแปลว่า “คำฟุ่มเฟือย”

คำฟุ่มเฟือยในการพูดนั้นครอบคลุมถึงคำว่า
~ อ่า…เอ่อออ
~ อื่มมมมมม
~ เอ่อมมมมม
~ การพูดติดอ่าง การพูดซ้ำคำ การพูดตะกุกตะกัก
~ การพูดคำว่า “นะคะ หรือ นะครับ” ในทุกๆครั้งที่จบประโยค

เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้พูดหรือนักนำเสนอ
มีคำฟุ่มเฟือยอยู่ในประโยค
ความเป็นมืออาชีพและความน่าเชื่อถือ จะลดลงอย่างรวดเร็ว
เพราะนั่นแสดงถึง การไม่เตรียมตัวหรือ
แสดงถึงความตื่นเต้นที่มีอยู่ในจิตใจของเขา

อย่างไรก็ดี
แม้ว่าจะเป็นมืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
แต่ในเวลาที่เขาจะต้องตอบปัญหาเฉพาะหน้า
การมี “คำเอ้ออ้า” หรือมีคำว่า นะครับ หรือ นะคะ ลงท้ายในทุกประโยค ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

สิ่งเดียวที่ป้องกัน Filler Word หรือคำฟุ่มเฟือยได้
คือ “การตั้งสติและมีสมาธิ” ในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารอยู่

เมื่อใดก็ตามที่เรามีสมาธิ
เราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่พูดหรือใส่ใจอยู่กับผู้ฟัง
เราจะสามารถกำกับ และควบคุมตัวเองไม่ให้พูด “คำอ้ออ้า”
หรือพูดลงท้ายทุกประโยค ด้วยคำว่า “นะครับหรือนะคะ”

ทางแก้คือ การตั้งสติ!!!
• หายเข้าใจลึก
• หยุดนิ่ง
• หายใจออกยาวๆ
• หลังจากนั้นค่อยๆ พูด

เพราะในหลายครั้งที่
เราพยายามพูด โดยที่เรายังคิดไม่ทัน
ก็อาจจะเกิดการ อ่า เอ่อ อื่มม

ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดเร็วจนเกินไป
แต่พูดไม่ทันเราก็อาจจะเกิดการ พูดติดอ่าง

ดังนั้น การมีสติด้วย การควบคุมลมหายใจ
จึงเป็นสิ่งที่สามารถเอาชนะคำฟุ่มเฟือย (Filler Word) ที่อาจจะเกิดขึ้น ในเวลาที่เราพูดหรือนำเสนอ

บอกได้เลยว่าถ้าเราตัดคำพูดฟุ่มเฟือยออกไปจากประโยคของพวกเรา การพูดของเราจะดูเป็น
• มืออาชีพมากยิ่งขึ้น
• น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
• เพิ่มผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น

EP. 14: นิ่งไม่หลับ ขยับเมื่อจำเป็น

17807637_1093518597419238_7720148477191098458_o

คุณจะรู้สึกยังไง เมื่อเจอผู้พูดที่ยืนนิ่ง หรือยืนตาย เป็นเวลาหลาย 10 นาทีบนเวทีโดยไม่ขยับเขยื้อ

ในทางกลับกัน คุณจะรู้สึกอย่างไร ที่เจอผู้พูดเดินวนไปวนมาบนเวที ทั้งๆที่การพูดของเขาใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีล้วนมีความหมายในตัวเอง
ดังนั้นทุกการขยับเขยื้อนบนเวทีจะต้องมีความหมายนะครับ

ถ้าเป็นระยะเวลาสั้นๆแล้วเราไม่อยากขยับเขยื้อน
หรือไม่มีความจำเป็นที่ต้องขยับเขยื้อน
ก็จงยืนพูดเฉยๆ โดยไม่ต้องเดินไปเดินมา

เพราะการเดินไปเดินมา อาจจะทำให้ผู้ฟังรำคาญ
หรือแสดงออกว่า เราไม่มั่นใจ เราตื่นเต้น หรือเรากังวลในบางสิ่งบางอย่าง
และแน่นอนว่า ความน่าเชื่อถือที่ผู้ฟังมีให้เราก็จะลดลงไปอย่างรวดเร็ว จากการที่เราเดินไปก็เดินมา

ในการนำเสนอหรือการพูดระยะเวลาสั้นๆ หากเราจะต้องยืนนิ่ง
เราสมควรจะมองตาผู้ฟัง หรือกระจายการสบสายตาไปให้ทั่วห้อง
เพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวโดยที่เราไม่ได้ก้าวขา หรือว่าขยับตัว

พูดถึงเรื่องของการขยับตัวเราอาจจะเอียงตัวเล็กน้อย
ด้วยการถ่ายน้ำหนักไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาเพื่อทำให้เกิดมิติ แต่ก็ไม่ควร โยกไปมา จนยุกยิก น่ารำคาญ

อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ครับ
การเดินบนเวทีจะต้องมีความหมาย
ยกตัวอย่างเช่น…

• เราก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว เมื่อเอ่ยถึง อนาคต
• เราเดินถอยหลังหนึ่งก้าว เมื่อเอ่ยถึง อดีต
• การเดินอาจจะแสดงถึง การเปลี่ยนประเด็น หรือเปลี่ยนหัวข้อ จากหัวข้อหนึ่งไปสู่อีกหัวข้อหนึ่งก็เป็นไปได้
• การเดินอาจจะเดินเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
• เดินเพื่อที่จะเข้าใกล้ผู้ฟังเพื่อถามคำถาม

สรุป:
ถ้าจะยืนนิ่ง ขอให้ยืนนิ่งอย่างมั่นคง
ถ้าจะขยับ ขอให้ขยับตัวหรือก้าวย่าง อย่างมีความหมาย

EP. 15 : ทิ้ง note ลงแม่น้ำ

17545387_1093525324085232_3412749347830316221_o

เดือนมีนาคมที่ผ่านมาใครที่ติดตามเพจนี้จะพบว่ามีบทความชุด “โศกนาฏกรรมในการนำเสนอ”
วันนี้ผมมีอีกหัวข้อหนึ่ง
ที่เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในการนำเสนอนั่นคือ…

อัตวินิบาตกรรมในการนำเสนอ
ซึ่งก็คือเครื่องมือฆ่าตัวตาย สำหรับนักพูดหรือนักนำเสนอ
หนึ่งในอาวุธฆ่าตัวตายที่น่ากลัวมากที่สุด คือ
[บท หรือกระดาษแผ่นๆ]
ที่นักพูดมือใหม่มักจะยึดติดตัวขึ้นมานั่นเอง

สาเหตุที่เรามักจะนำกระดาษติดไม้ติดมือขึ้นมาบนเวที
ก็คงไม่พ้น การที่เรา ไม่มั่นใจ, กลัว, หรือจำบทไม่ได้

*************************
• ยืนอ่าน •

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นครับ
ถ้าเรามายืนอ่านบทที่เตรียมไว้
แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่ “การพูดหรือการนำเสนอ” อีกต่อไป
มันคือ “การอ่าน” ให้ฟังเท่านั้น
อาจกล่าวได้ว่า นี่คือ
วิธีฆ่าตัวตายในการนำเสนอ ยอดฮิตวิธีที่หนึ่ง

*************************
• สะบัดปีก •

บางคนครับจากที่ตื่นเต้นจนมือสั่นอยู่แล้ว
เมื่อถือกระดาษที่เตรียมมา
ผู้ฟังก็จะเห็นมากยิ่งขึ้นครับว่า…
ท่านสั่นหนักกว่าเดิม
เพราะกระดาษของท่านจะสะบัด
จนแทบจะกระพือปีกกันเลยทีเดียว
นั่นคือวิธีการฆ่าตัวตายวิธีที่สอง

*************************
• ไม่สบตา •

บางครั้งท่าน
ต้องการที่จะพูดให้ถูกตรงตามบทพูด
ท่านเลยอาจจะชำเลืองมองกระดาษหรือโน๊ตเป็นระยะๆ
ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะสื่อสารให้เชื่อมโยงกับผู้ฟังได้
นั่นคือวิธีการฆ่าตัวตายแบบที่สาม

*************************
ผมพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เสมอนะครับว่า
การพูดที่ดีจะต้องมีการเตรียมตัวหรือซ้อมมา

ดังนั้นเมื่อคุณเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
คุณสามารถขยำกระดาษ แล้ว ทิ้งรักลงแม่น้ำ ได้เลยครับ

แม้ว่าคุณจะลืมบทก็ไม่เป็นไรครับ
ทำตัวมีมาดเก๋ ยิ้มๆให้ดูเท่
ไม่ต้องถือกระดาษขึ้นไปครับ
เพราะถามจริงๆนะครับ
มีใครรู้บ้างว่าคุณเขียนอะไรบนกระดาษแผ่นนั้น?

คำตอบคือ
มีคุณคนเดียว ที่รู้ว่าในโน้ตแผ่นนั้นเขียนอะไรไว้

*************************

ดังนั้นถ้าคุณคิดจะท่องจำบท
ผมขออนุญาตให้คุณท่องแค่
“บทเปิดและบทปิด” เท่านั้น

ในส่วนของเนื้อความ
คุณไม่มีความจำเป็นต้องท่องจำทั้งหมดครับ
แค่จดจำหัวข้อหลักๆก็พอครั

ย้ำนะครับ ทิ้ง note ลงแม่น้ำ

EP. 16 : ฮาโหล ทดสอบ 1 2 3 4 ทดสอบ

18278349_1122584664512631_5735498652689557202_o

นานมาแล้วผู้พูดต้องใช้การ Project เสียงเพียงอย่างเดียว
เสียงจึงจะก้องกังวาลเข้าถึงโสตประสาทของผู้ฟัง
ในสมัยนี้ แม้ว่าบางท่านจะไม่มีโอกาสฝึกฝนวิธีการใช้เสียง (Voice Training)
พวกเขาก็ยังโชคดีที่โลกใบนี้มีสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ที่มีชื่อว่า ไมโครโฟน

วันนี้เรามาดูกันว่า เราจะทำอะไรกับเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้กันบ้าง
แรกสุด คุณควรจะเช็คคุณภาพหรือประสิทธิภาพของไมโครโฟนให้ดี
เพราะไมโครโฟนแต่ละตัวมีความไวต่อการรับเสียงเสียงแตกต่างกัน
อย่างที่ผมพูดไว้อยู่เสมอครับ เราต้องไปถึงก่อนเวลาเสมอ
และเมื่อไปถึงก่อนเวลาเราก็จะมีโอกาสได้ทดสอบ ไมโครโฟน

วิธีการทดสอบไมโครโฟนจะเป็นดังนี้
ตรวจสอบให้ดีว่าไมโครโฟนเปิดหรือยัง ที่สำคัญห้ามตบไมโครโฟนเพื่อทดสอบเสียงโดยเด็ดขาด
เพราะอาจจะทำให้เครื่องรับเสียงของไมโครโฟนเสียหาย และทำให้ไมโครโฟนนั้นพัง
บางครั้งเราอาจจะคิดว่าไม่เป็นไร “มันเป็นของโรงแรม.
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโรงแรมนั้นมีไมโครโฟนให้เราแค่ตัวเดียว…ปังครับ ปัง-ปี๊-นาศ
วิธีการทดสอบไมโครโฟนอย่างง่ายๆ คือการพูดไปที่ไมโครโฟน
โดยสังเกตว่าถ้าไมโครโฟนไม่ไวต่อการรับเสียง เราอาจจะต้องยกไมโครโฟนเข้าใกล้ปาก
แต่ถ้าไมโครโฟนไวต่อการรับเสียง เราอาจลดมือลง เพื่อให้ไมโครโฟนอยู่ห่างปากของเรา
การทดสอบแบบนี้จะทำให้เมื่อเราขึ้นเวทีเราจะไม่ต้องทดสอบเสียงของเรากับไมโครโฟนบนเวที

ที่ผมเล่ามาคือวิธีการขั้นต้นของมืออาชีพ
หากคุณเริ่มต้นได้ดี โอกาสที่ผู้ฟังจะเชื่อถือคุณก็จะมีสูงมากๆ
แน่นอนว่าหากเริ่มต้นไม่ดี ผลลัพธ์ย่อมอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับ ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ
เชื่อผมนะครับ “ความประทับใจแรกมีแค่เพียงครั้งเดียว”

หากชื่นชอบบทความนี้ ท่านสามารถ กดติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *